การให้คำปรึกษา แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ Counseling ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง การให้คำปรึกษา คำแนะนำ หรือการให้ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือ แต่ “การปรึกษาเชิงจิตวิทยา” มีความหมายที่แตกต่างออกไป โดยจากสมาคมการปรึกษาเชิงจิตวิทยานานาชาติ (International Association for Counseling: IRTAC) ให้นิยามจิตวิทยาการปรึกษาไว้ว่า คือ วิธีการแห่งการสร้างความสัมพันธ์และการตอบสนองต่อผู้อื่นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นโอกาสให้บุคคลได้สำรวจตนเอง ทำให้ชีวิตชัดเจนขึ้น และใช้ชีวิตในทางที่น่าพึงพอใจและสร้างสรรค์

Blogger templates

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไม้จันทน์อยู่ที่ไหน

   ชายคนหนึ่งต้องการไม้จันทน์มาก เขาได้ยินมาว่าไม้จันทน์นั้นมีกลิ่นหอม จึงเดินเข้าไปในป่าเพื่อเสาะหาไม้ชนิดนี้ เขาพบคนตัดไม้แล้วกล่าวว่า

“ฉันกำลังหาไม้จันทน์อยู่ ท่านช่วยหาอีกแรงได้ไหม เพราะท่านน่าจะรู้จักป่าแห่งนี้ดี”

คนตัดไม้ตอบว่า

“ไม้จันทน์น่ะหรือ ฉันรู้จัก แต่วันนี้ค่ำเกินไปเสียแล้ว คืนนี้เธอช่วยฉันทำงานเล็กๆ น้อยๆก่อนแล้วกัน แล้วพรุ่งนี้เราจะไปหาด้วยกัน”


ชายหนุ่มตอบตกลงด้วยความสุข คืนนั้นเขาช่วยทำงานจนเหนื่อยและหลับสนิท วันรุ่งขึ้นจึงตื่นสาย หลังจากตื่นตอนเขาชวนคนตัดไม้ไปหาไม้จันทน์ แต่คนตัดไม้กลับบอกว่า

 “ไปไม่ได้แล้วล่ะเพราะเธอตื่นสาย ไม้จันทน์ต้องหาทั้งวัน เธอรอไปวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน”
ในทุกๆ วัน คนตัดไม้จะมีเหตุผลต่างๆ นานาประการเพื่อไม่ออกไปหาไม้จันทน์ ผ่านไป ๓ ปี ชายหนุ่มจึงตระหนักรู้ว่า ‘วันพรุ่งนี้ไม่มีอยู่จริง’

ชายหนุ่มตัดสินใจแยกจากชายคนตัดไม้คนแรก และไปพบกับคนตัดไม้คนที่สอง คนตัดไม้คนที่สองบอกว่า

“เธอกำลังหาไม้จันทน์หรือ มันหาง่ายมากเพราะไม้จันทน์อยู่ข้างหน้าเธอ”

“ไหนล่ะ ฉันไม่เห็นเลย”

“เธอก็แค่เข้าไปในป่าแล้วก็มองหาไม้จันทน์”

“มันไม่ง่ายอย่างนั้นเสียหน่อย ฉันเพิ่งออกมาจากป่าและไม่เห็นไม้จันทน์เลยสักต้น”

“นั่นเป็นเพราะเธอไม่รู้จักไม้จันทน์ เธอไม่รู้จักลักษณะ ลำต้น ใบ ของมัน เอาล่ะฉันจะสอนเธอ ฉันจะสอนให้เธอรู้จักต้นไม้อื่นๆ ด้วย เมื่อเธอรู้จักต้นไม้ในป่าได้ดีพอแล้ว เธอก็จะรู้ว่าต้นไหนคือ ไม้จันทน์
เวลาผ่านไปอีกเนิ่นนานถึง ๓ ปี ชายหนุ่มก็ยังไม่พบไม้จันทน์ และตระหนักรู้อีกครั้งว่า คนตัดไม้คนนี้ก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับไม้จันทน์เลย

ต่อมาเขาพบชายตัดไม้คนที่ ๓ เขาพูดว่า
 “เพื่อนที่รัก ฉันตามหาไม้จันทน์มา ๖ ปีแล้ว ยังไม่พบเลย เธอช่วยฉันหาไม้จันทน์ได้ไหม” 

คนตัดไม้จึงว่า “ได้สิ ฉันจะช่วยเธอ” 

เวลาผ่านไปเพียงครึ่งวัน คนตัดไม้ก็บอกว่า “นี่ไงล่ะไม้จันทน์”

    ชายหนุ่มมีความสุขมาก ร้องไห้ด้วยความดีใจ ก้มกราบต้นไม้นั้น ตัด และนำกลับบ้าน เขาเฝ้าพรรณนากับเพื่อนๆ ถึงความสวยงามของไม้จันทน์ ชื่นชมคนตัดไม้คนที่๓ ที่ช่วยเขา

 “เขาช่างดีเหลือเกิน เขาช่วยชี้ไม้จันทน์ให้กับฉัน เขาเก่งเหลือเกิน”

 แต่แล้ววันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่า “เพื่อนรัก ฉันคิดว่าขอนไม้นี้ไม่ใช่ไม้จันทน์หรอกนะ” 

ชายหนุ่มโกรธมาก “มันเป็นไม้จันทน์แน่นอน ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับไม้จันทน์มาตั้ง ๖ ปี จะไม่ใช่ได้อย่างไร”

เพื่อนตอบว่า“อืม ฉันก็ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับไม้จันทน์หรอกนะแต่ฉันรู้ว่าไม้จันทน์มีกลิ่นหอม ขอนไม้นี้ไม่มีกลิ่นหอมจึงไม่น่าจะเป็นไม้จันทน์”

คำกล่าวนี้ทำให้ชายหนุ่มตกใจมาก เขาเพิ่งระลึกได้ว่าเขาออกตามหาไม้จันทน์เพราะไม้จันทน์มีกลิ่นหอม แต่เมื่อได้พบเขาหลงดีใจจนลืมคุณสมบัติของมัน เขาโกรธมากและเสียใจมาก “ไม้นี้ช่างน่าเกลียด เจ้าคนตัดไม้นั้นยิ่งน่าเกลียดกว่า !”

    เขาลงมือเผาขอนไม้นั้นทิ้ง และขณะที่ไม้กำลังถูกเผานั้นเอง กลิ่นหอมก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา
ไม้จันทน์ในเรื่องนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เราตามหาคำสอนเพื่อความสุขในชีวิต แต่หลายครั้งเราผลัดวันประกันพรุ่ง เราเพียรอ่านตำราแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ แม้เมื่อเราพบสังฆะที่มีการฝึกปฏิบัติ แต่เราก็ไม่ได้นำกลับมาปฏิบัติใช้ให้เห็นผล เราต้องนำการปฏิบัติมาสู่ชีวิตไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเช่นเดียวกับชายคนนี้ที่แม้จะเพียรหาไม้จันทน์จนพบ แต่เขาก็วางไม้จันทน์ไว้เฉยๆ จึงสัมผัสกลิ่นหอมของไม้จันทน์ไม่ได้