การให้คำปรึกษา แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ Counseling ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง การให้คำปรึกษา คำแนะนำ หรือการให้ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือ แต่ “การปรึกษาเชิงจิตวิทยา” มีความหมายที่แตกต่างออกไป โดยจากสมาคมการปรึกษาเชิงจิตวิทยานานาชาติ (International Association for Counseling: IRTAC) ให้นิยามจิตวิทยาการปรึกษาไว้ว่า คือ วิธีการแห่งการสร้างความสัมพันธ์และการตอบสนองต่อผู้อื่นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นโอกาสให้บุคคลได้สำรวจตนเอง ทำให้ชีวิตชัดเจนขึ้น และใช้ชีวิตในทางที่น่าพึงพอใจและสร้างสรรค์

Blogger templates

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การพยายามลืม ก็หล่อเลี้ยงความทรงจำ

บางทีการพยายามลืม ก็หล่อเลี้ยงความทรงจำว่าไหมครับ

สมองของคนเรานี่ก็แปลกนะครับ บางอย่างอยากจำแต่จำไม่ได้ บางอย่างอยากลืมแต่ลืมไม่ลง

เรื่องของความพยายามลืมบางสิ่งบางอย่าง บางคน บางความรู้สึกนี่ เป็นเรื่องที่ผมพบมากเป็นอันดับต้นๆของการพูดคุยปรึกษาเลยทีเดียวล่ะครับ

สมองบางคนไม่ยอมหยุดคิดถึงสิ่งที่หัวใจจดจำ ผมคิดเอาเองว่ามันอาจจะเป็นที่มาของคำว่า "ประทับใจ" คือมันถูก 'ประทับ' ไว้ภายใน 'หัวใจ'ของเราแล้ว จึงยากจะลบเลือนมันออกไป พราะยิ่งพยายามลืม เหมือนพยายามท่องบทให้จดจำ การพูดคุยกับหลายๆคนทำให้ผมรับรู้ได้ถึงสิ่งหนึ่งที่"สมาคมคนไม่ลืม"มีร่วมกันครับ นั่นคือการให้ความสำคัญใส่ใจของเรา


บางครั้งเราให้ค่าความสำคัญกับความทรงจำนั้น และเมื่อเราพยายามจะลืมเขา พยายามลืมความรู้สึกนั้น หรือพยายามลืมสิ่งนั้น เรามักจะตอกย้ำกับใจให้ต้องลืม และเมื่อเราย้ำมันลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า จงลืม... จงลืม... ความเพียรพยายามนั้นกลับย้ำเหมือนตอกลิ่มให้แรงลึกลงไปในความทรงจำของเรายิ่งขึ้นครับ

จากประสบการณ์ในการพูดคุยของผม คำตอบของหลายคนที่มีให้แก่ใจตน มักเห็นเด่นชัดอยู่ 2 อย่าง เป็นวิธีที่จะสามารถทำให้หัวใจคลายความทุกข์กับความพยายามอันโหดร้ายนี้ได้ นั่นคือต้องอาศัยเวลาและการปรับใจให้ลดทอนความสำคัญของสิ่งที่พยายามลืมลงไป ซึ่งทั้งสองอย่างต้องเกื้อหนุนกันอยู่

กล่าวคือ...

เวลา คือเราต้องให้เวลากับมัน อาการใจบางอย่างไม่ต้องแก้ไข(เพราะบางทีก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้) แต่ต้องใช้ระยะเวลาเยียวยาปรับใจ เพื่อลบเลือนลงไป เหมือนเราเขียนตัวหนังสือไว้บนหาดทราย ถ้าเราจะลบมันได้ก็ต้องรอลมรอคลื่นค่อยๆชะล้างจนกว่ารอยลึกนั้นจะจางหาย และ/หรือสอง ละเลงอะไรลงไปใหม่ เขียนใหม่ คือการหาอะไรทำให้ลดความสนใจ ใส่ใจกับมัน คือกระบวนการลดทอนความสำคัญในใจ ค่อยๆใช้ความตั้งใจในสิ่งอื่นเบี่ยงเบนความสนใจ กระทั่งในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์ต่างๆผ่านพ้นไป ความสำคัญจะชัดเจนกับใจน้อยลง และเราจะไม่ต้องลืม แต่จะเปลี่ยนเป็นอยู่กับมันได้ อยู่กับความทรงจำนั้น สิ่งที่ติดอยู่ในใจนั้น ใครคนนั้นในสภาพที่ไม่อาจทำร้ายให้เราเจ็บปวดได้อย่างเดิมอีกเลย

และที่สุดเมื่อเขาหรือประสบการณ์นั้นไม่มีความสำคัญกับใจ เราก็จะค่อยๆลบลืมมันไปได้ด้วยตนเอง

มีใครกำลังพยายามลืมอะไรอยู่ไหมครับ ลองค่อยๆเยียวยาอาการใจของตัวเองด้วยวิธีการที่หลายๆเสียงเคยใช้เพื่อการคลายจากบาดแผลในใจแบบที่ผมเขียนไว้วันนี้ดูก็ได้นะครับ

ลองไม่ตอกย้ำ ลองไม่พยายาม ลองลดทอนความสำคัญ ไม่ใส่ใจผูกพัน ตัดใจ อภัย อโหสิกรรม ทำอย่างอื่นเบี่ยงเบนความสนใจไปพลาง ให้ระยะเวลาค่อยๆพาให้ความชัดเจนจืดจาง แล้ววันหนึ่งเราอาจจะมานึกขึ้นได้บ้างว่า เอ๊ย!ลืมไปเลย เมื่อก่อนเคยเจ็บช้ำแทบปางตาย

ที่สำคัญคือผมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องลืมมันได้ แต่เราจะจำมันไว้แบบอดีตที่ไม่ใส่ใจจดจำ และมันก็จะไม่ทำให้ใจเราทุกข์อีกต่อไปครับ